วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ผู้นำแห่งอนาคต




ผู้นำแห่งอนาคต
          บทความในเว็บไซต์ที่เขียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก  เขียนขึ้นโดยมาร์แชล โกลด์สมิท กูรูทางด้านผู้นำเชิงกลยุทธ์  กล่าวถึงคุณลักษณะที่เป็นหัวใจหลักของผู้นำแห่งอนาคตหรือผู้นำยุคหน้าเพียง 5 ข้อ  
คุณสมบัติหลัก 5 ประการของผู้นำแห่งอนาคต 
          1.ต้องคิดถึงภาพรวมโลก (Thinking Globally) – การทำธุรกิจในอดีตต่างจากปัจจุบันและอนาคต  ทุกสิ่งในโลกเชื่อมถึงกันหมดจากการพัฒนาการสื่อสาร  ถ้าจำกันได้  ภาวะการเงินต้มยำกุ้งในบ้านเราส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคและทั่วโลกอย่างรวดเร็ว  และในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของตลาดทั่วโลกจะมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในประเทศ  ดังนั้นผู้นำแห่งอนาคตต้องคิดถึงภาพรวมโลก  ต้องศึกษาทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์มหภาค  ต้องรู้ทันกฎหมายและการเมืองประเทศอื่นๆด้วย
          มีสองปัจจัยที่ผู้นำยุคหน้าต้องคิดถึง คือ การเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศ และการบูรณาการด้านเทคโนโลยี  ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ  สินค้าสมัยนี้ไม่ได้ผลิตจากประเทศเดียวอีกต่อไป  วัตถุดิบและชิ้นส่วนถูกส่งมาจากประเทศต่างๆ เพื่อประกอบเป็นสินค้าชิ้นเดียว  แต่ก็ยังคงมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า (จากความได้เปรียบทางการแข่งขัน Competitive Advantage ของแต่ละประเทศนั่นเอง) เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่ผู้ผลิตต้องเรียนรู้  ก็คือเรื่องการบริหารจัดการการผลิตระดับโลก  การบริหารการตลาด  และการบริหารทีมขาย 

          นอกจากนี้ผู้นำแห่งอนาคตยังต้องคิดถึงการบูรณาการการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งภายในสำนักงานไปจนถึงการส่งออก  อย่าลืมว่าสินค้าบางอย่างอาจผลิตในประเทศไทยแต่ส่งไปขายต่างประเทศ (เช่น กล้องถ่ายรูป รถยนต์) ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีนั้นสามารถจะทะลายกำแพงไปสู่การทำธุรกิจระดับโลกได้  ดังนั้นผู้นำที่ยังคิดแต่จะค้าขายในประเทศเท่านั้น  อาจถูกกดดันจากตลาดระดับโลกได้ (เช่น ปัญหาเรื่องการขาดแคลนข้าวของตลาดโลก  ส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยโดยตรง  รวมทั้งรัฐบาลก็ยังถูกกดดันจากตลาดต่างประเทศอีกด้วย ทั้งๆ ที่ไทยก็ผลิตข้าวเท่าเดิม)
   
          2.ต้องเข้าใจความหลายหลายทางวัฒนธรรม (Appreciating Cultural Diversity) จากการเปิดตลาดเสรี  วัตถุดิบมาจากหลายแห่ง  ธุรกิจอาจตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ  หรือส่งสินค้าไปขายยังตลาดนอกบ้าน  ดังนั้นผู้นำแห่งอนาคตจึงต้องเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของทีมงานและประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ต้องเข้าใจทั้งระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย และต้องเคารพความแตกต่างด้านนี้ของปัจเจกชน  เพราะในมุมมองหนึ่ง  คือการเปิดโอกาสทางการค้า

          ผู้นำธุรกิจจากอเมริกาหรือยุโรปที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย  อาจต้องอ่านหลักพุทธศาสนา เพราะศาสนาคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของคน  อาจจะต้องศึกษาเรื่องธรรมเนียมการให้ของขวัญ  หรือการให้ความสำคัญกับเวลา (ชาวอเมริกาและยุโรปบางชาติจะตรงเวลา  และถือว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่า  แต่ชาวไทยจะไม่ค่อยตรงเวลา  ชอบมาสาย  และไม่ให้ความสำคัญกับเวลา) ด้วยเหตุนี้การมีความสามารถที่จะชักจูงใจคนจากหลายเชื้อชาติได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เพราะวิธีการจูงใจคนในวัฒนธรรมหนึ่งที่ได้ผลดีมาก  อาจใช้ไม่ได้เลยกับคนในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง  หรือการยกย่องชมเชยพนักงานอาจต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละคน  ดังนั้นผู้นำที่มีจุดเด่นข้อนี้จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มาค่าอย่างยิ่งขององค์กรในอนาคต

          3.ต้องสามารถบริหารจัดการเทคโนโลยี (Demonstrating Technology Savvy)  – ผู้นำยุคหน้าต้องสามารถบริหารจัดการ  เข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอาศัยกลยุทธ์เพียง 4 อย่างเท่านั้น คือ  
1)     ต้องรู้ว่าการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างชาญฉลาดนั้น  สามารถช่วยองค์กรได้อย่างไรบ้าง
2)     ต้องรู้จักคัดเลือก พัฒนา และจูงใจทีมงานที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ
3)     ต้องรู้วิธีการบริหารและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ
4)     ต้องเป็นผู้นำตัวอย่างในแง่การกล้าใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ 
          ปัจจุบันนี้  หลายองค์กรเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในอนาคตที่สามารถเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจได้ (ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็เช่น ธุรกิจออนไลน์ต่างๆ ที่ทำให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ได้ ธุรกิจดาวน์โหลดเพลงหรือการโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น)   
          4.ต้องสร้างหุ้นส่วนธุรกิจ (Building Partnerships) – เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้และได้เปรียบคู่แข่งธุรกิจ  ผู้นำแห่งอนาคตต้องทำใจให้ได้ว่าการปรับขนาดองค์กร  ผ่าโครงสร้าง  ลดจำนวนพนักงาน  และจ้างธุรกิจอื่นทำงานที่ตนไม่ถนัด (outsourcing) นั้น  ต่อไปจะถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ผู้นำยุคหน้าต้องรู้จักสร้างหุ้นส่วนธุรกิจยิ่งมากยิ่งดี  ในอนาคตคำว่าศัตรูคู่แข่งหรือคู่หู  จะไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ยิ่งในธุรกิจสำคัญๆ เช่น พลังงาน การสื่อสาร และยา  องค์กรเดียวกันอาจเป็นทั้งลูกค้า เป็นผู้จัดส่ง เป็นหุ้นส่วน หรือคู่แข่งในเวลาเดียวกันก็ได้ (เพราะองค์กรเดียวอาจทำธุรกิจหลายอย่าง เช่นCP มีหุ้นในบริษัท ทรูคอร์ปปอเรชั่น บริษัท 7-11 ) ดังนั้น ผู้นำยุคหน้าจึงควรสร้างแนวคิดบวก  สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวและ แบบ “ชนะ-ชนะ” (win-win) กับองค์กรอื่นๆ ไว้จึงน่าจะเหมาะสมกว่า

          5. ต้องแบ่งปันประสบการณ์ผู้นำ (Sharing Leadership) – ผู้นำในยุคหน้าไม่ได้เป็นแบบที่อยู่บนจุดยอดสุดของแผนผังโครงสร้างองค์กร  ที่ยึดติดขยับอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้ว  ในอนาคตหุ้นส่วนธุรกิจจะหันมาร่วมมือกันทำงานมากขึ้น  พนักงานและทีมงานจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่มีความรู้มากขึ้น (knowledge workers) เพราะเดี๋ยวนี้สามารถหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ ได้ทั้งง่ายและเร็ว  การบริหารทีมงานที่มีความรู้ความสามารถจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น  เพราะคนเก่งเหล่านี้จะอยู่กับองค์กรไม่นาน นอกจากว่าจะมีผู้นำที่เก่งกว่า ท้าทายกว่า และเปิดโอกาสให้มากกว่า  ฉะนั้นการที่ผู้นำแห่งอนาคตเข้าใจศิลปะการบริหารทีมงานที่เก่งเลิศ (Talent Management) ให้มีประสิทธิผลสูงสุดต่อตัวผู้นำเองและองค์กร  การแบ่งปันถ่ายทอดความรู้  ความสามารถ และประสบการณ์ความสำเร็จของผู้นำเองต่อทีมงานเก่งๆ เหล่านั้น  จะช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้ผู้นำแห่งอนาคตโดดเด่นกว่าผู้นำอื่นๆ อย่างชัดเจน


เขียนโดย อิศราวดี ชำนาญกิจ
อ้างอิง 
บทความเรื่อง The Global Leader of the Future: New Competencies for a New Era โดย Marshall Goldsmith มิถุนายน 2551จาก http://www.leader-values.com/Content/ detail.asp?ContentDetailID=937

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น